![]() |
||||
![]() |
ระยะเวลาการจัดสัมมนา วันที่ 29 เมษายน 2551 การสัมมนาวิชาการ เรื่อง “ อนุรักษ์ภาพอย่างไรให้อยู่ได้ยืนนาน ” การจัดการสัมมนาวิชาการเรื่อง “ อนุรักษ์ภาพอย่างไรให้อยู่ได้ยืนนาน ” ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 5 ศูนย์นานาชาติสิรินธรฯ อาคารเทพรัตน์วิทยาโชติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2551 โดยหอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีผู้เข้าร่วมสัมมนา 80 คน ในการสัมมนาครั้งนี้มีการบรรยายทางวิชาการทั้งในช่วงเช้าและช่วงบ่าย โดยมีรองอธิการบดีฝ่ายอำนวยการ ( ผู้ช่วยศาสตราจารย์มยุรี เทศผล ) เป็นผู้แทนอธิการบดีกล่าวเปิดการสัมมนา จากนั้นเป็นการบรรยายในเรื่อง “ ประโยชน์ของภาพถ่ายในเชิงจดหมายเหตุ ” และ “ สาเหตุของการเสื่อมสภาพของภาพถ่าย ” โดยนางจิราภรณ์ อรัณยะนาค ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ กรมศิลปากร ผู้อำนวยการกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งได้กล่าวแนะนำถึงประโยชน์ของภาพถ่าย เหตุผลและจุดกำเนิดของวิชาการอนุรักษ์ภาพที่มีหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายที่ขาดฟิล์มต้นฉบับ หรือฟิล์มต้นฉบับชำรุด ภาพถ่ายมีสีจางซีด เป็นต้น ลักษณะของภาพและฟิล์มที่ชำรุดในรูปแบบต่างๆ ประเภทของฟิล์มที่ผลิตในแต่ละช่วงเวลา การแยกประเภทของฟิล์มในเบื้องต้น ขณะที่ในส่วนของสาเหตุของการเสื่อมสภาพของภาพถ่ายนั้น มีทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกได้แก่ มนุษย์ ซึ่งเป็นผู้หยิบจับโดยที่ไม่ได้ใส่ถุงมือ หรือการจัดเก็บที่ไม่ถูกต้องก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ภาพถ่ายชำรุด เสื่อมสภาพได้ โดยที่อาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ รวมไปถึงสัตว์จำพวกหนู แมลงกัดแทะ จุลินทรีย์ พวกเชื้อรา สภาพแวดล้อม อากาศ ความร้อน ความชื้น แสงสว่าง มลพิษ ฝุ่นละออง เป็นต้น ส่วนปัจจัยภายใน ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงภายในตัวภาพ เช่น สีจาง แตกลาย สารเคมีภายในภาพเกิดทำปฏิกิริยากับความร้อนความชื้น ทำให้ภาพบิดงอ เช่น สมัยก่อนมีการนิยมนำภาพมาเม้าท์( Mount ) บนไม้อัด เมื่อเกิดความร้อนหรือความชื้นเปลี่ยนแปลง ภาพนั้นก็จะเกิดการยืดตัวหดตัวได้ แต่อัตราการยืดตัวหดตัวของภาพที่ทำจากกระดาษกับไม้นั้นไม่เท่ากัน เมื่อไม้ขยายตัวก็จะดึงกระดาษยืดออก เมื่อไม้หดตัวก็จะดึงกระดาษเข้ามาตามสภาพอากาศ ความร้อนความชื้น รูปภาพนั้นก็จะเกิดการแตกลายงา เป็นต้น ในช่วงบ่ายเป็นการบรรยายเชิงปฏิบัติ เรื่อง “ วิธีการจัดเก็บ และอนุรักษ์ภาพเก่าเพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพ ” ในส่วนของการดูแลรักษาภาพ หัวใจสำคัญอยู่ที่การจับต้องเคลื่อนย้าย การบรรจุหีบห่อด้วยวิธีที่ถูกต้องนั้นควรที่จะต้องหาถุงมือมาใส่ ไม่ควรจับต้องภาพโดยตรง ซึ่งถุงมือผ้าฝ้ายจะดีที่สุด การขนย้ายภาพควรที่จะมีซองพลาสติกใสไมล่าบรรจุภาพไว้และเคลื่อนย้ายในแนวตั้งทีละภาพถ้าเป็นภาพใหญ่ โดยหันหน้าภาพเข้าหาตนเอง เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ที่จะขนย้ายไม่ควรใส่เครื่องประดับ เนื่องจากเครื่องประดับเหล่านั้นอาจทำความเสียหายให้แก่ภาพ สำหรับวัสดุที่ใช้ทำหีบห่อนั้น ได้แก่ กระดาษแข็ง เช่น กระดาษลูกฟูก ซึ่งกระดาษเหล่านี้ต้องมีความหนา ทนทาน ไม่เป็นกรด ไม่มีไอระเหยของสารเคมี กระดาษไร้กรด เช่น กระดาษสาญี่ปุ่นที่มีคุณสมบัติพิเศษสำหรับการอนุรักษ์คือ มีความหนาเพิ่มขึ้น พื้นผิวเรียบ ผ้าเนื้อนุ่มหรือ Bubble pack เป็นต้น ในส่วนของวัสดุจัดเก็บนั้น เน้นไปที่คุณสมบัติที่ไม่เป็นกรด และไม่มีสารเคมีเป็นส่วนประกอบ ในส่วนของสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการจัดเก็บรูปภาพนั้น อุณหภูมิควรจะอยู่ที่ 22-25 องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่า ความชื้น อยู่ระหว่าง 55-65 % แสงสว่างไม่เกิน 50-150 ลักซ์ มีอากาศถ่ายเท และวัสดุจัดเก็บไร้กรด มีเครื่องปรับอากาศและเครื่องดูดความชื้น มีการป้องกันหนู แมลงและเชื้อรา ก๊าซ ฝุ่นละออง เป็นต้น หากรูปภาพที่จัดเก็บอยู่เกิดเชื้อราขึ้น ให้ลดความชื้น ลดอุณหภูมิ ทำให้วัสดุแห้ง ทำความสะอาดภาพ และปรับปรุงระบบไหลเวียนถ่ายเทด้วย ทั้งนี้วิทยากรยังได้เชิญชวนให้ผู้สนใจไปศึกษาวิธีการทำวัสดุจัดเก็บ เช่น กล่อง ที่สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพื่อเพิ่มทักษะและความเข้าใจในงานอนุรักษ์ภาพให้มากขึ้น
|
|||
![]() |
||||
![]() |
||||
|