โครงการศึกษาและดูงานเพื่อพัฒนางานจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ณ หอสมุดและจดหมายเหตุธนาคารแห่งประเทศไทยและ
พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย
ระยะเวลาการศึกษาและดูงาน วันที่ 20 มีนาคม 2551 เวลา 9.00 - 16.30 น.
วัตถุประสงค์ของโครงการ
เพื่อให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยได้เข้าใจงานจัดเก็บ รวบรวม อนุรักษ์บริการเอกสารจดหมายเหตุและการจัดแสดงเอกสารทางด้านจดหมายเหตุเพื่อนำมาปรับใช้ทั้งในหน่วยงานของตน และพัฒนางานจดหมายเหตุของมหาวิทยาลัยโดยส่วนรวม
ผู้เข้าร่วมโครงการ
คณะกรรมการอำนวยการหอจดหมายเหตุ , คณะอนุกรรมการจัดระบบ ประเมินคุณค่าและกำหนดอายุการเก็บเอกสารของมหาวิทยาลัยและผู้สนใจจากหน่วยงานในวิทยาเขตกำแพงแสน และ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร รวม 43 คน
รายละเอียดการดูงาน
1. หอสมุดและจดหมายเหตุธนาคารแห่งประเทศไทย ( 9.00 – 12.00 น.) ผู้ศึกษาและดูงานจะได้รับความรู้ในเรื่องกระบวนการดำเนินงานของหอสมุดและจดหมายเหตุธนาคารแห่งประเทศไทย วิธีและขั้นตอนในการดำเนินงานเกี่ยวกับเอกสารจดหมายเหตุของธนาคารแห่งประเทศไทยจนถึงการให้บริการเอกสารจดหมายเหตุ
2. พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย( 13.30 - 16.30 น.)
ผู้ศึกษาและดูงานจะได้ความรู้ในเรื่อง การจัดการพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย และความรู้เกี่ยวกับประวัติของการธนาคารไทยในอดีตและวิวัฒนาการเงินตราไทย
การไปศึกษาและดูงานเพื่อพัฒนางานจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
หอสมุดและจดหมายเหตุธนาคารแห่งประเทศไทย
การไปศึกษาและดูงานหอสมุดและจดหมายเหตุธนาคารแห่งประเทศไทยวิทยากรได้บรรยายเกี่ยวกับนโยบายการจัดการเอกสารของธนาคารแห่งประเทศไทยโดยเน้นกล่าวถึงงานจัดการเอกสารประเภทจดหมายเหตุ กระบวนการงานจดหมายเหตุตั้งแต่ในส่วนของงานรับมอบเอกสารจดหมายเหตุ งานจัดการฐานข้อมูลเอกสารจดหมายเหตุ งานจัดหมวดหมู่และจัดทำเครื่องมือช่วยค้น งานบริการ ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ และงานสงวนรักษาและถ่ายโอนสื่อ พร้อมกันนี้ยังได้นำเสนอแนวทางในการดำเนินงานในอนาคตของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการจัดการเอกสารจดหมายเหตุด้วย
หลังจากนั้นได้นำชมศูนย์เก็บเอกสารของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยภายในศูนย์เก็บเอกสารจะมีการจัดเอกสารไว้เป็นหมวดหมู่ตามโครงสร้างขององค์กร และมีเจ้าหน้าที่ของศูนย์เก็บเอกสารเป็นผู้ควบคุมดูแล ในส่วนการขอใช้เอกสารของหน่วยงานนั้นทางหน่วยงานที่ต้องการใช้เอกสารต้องทำหนังสือขออนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของเอกสารและศูนย์เก็บเอกสาร หลังจากนั้นทางศูนย์เก็บเอกสารจึงสืบค้นเอกสารให้ยังหน่วยงานนั้นต่อไป
ในส่วนพื้นที่ของการเก็บรักษาเอกสารจดหมายเหตุได้มีการจัดเก็บเอกสารตามหลักการของจดหมายเหตุคือ เก็บไว้ในห้องที่มีการควบคุมอุณหภูมิและมีระบบป้องกันอัคคีภัยโดยใช้สารเคมีในการดับเพลิง ส่วนของเอกสารได้จัดเก็บโดยใช้วัสดุไร้กรดในการเก็บรักษาเอกสาร เช่น แฟ้มไร้กรด กล่องไร้กรด ซองไร้กรด เป็นต้น
พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย |
 |
|
พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ในตำหนักวังบางขุนพรหม ซึ่งเป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานพระราชโอรส สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระยานครสวรรค์วรพินิต เพื่อเป็นที่ประทับ ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้เปลี่ยนมาเป็น กรมยุทธการทหารบก กรมยุวชนทหาร สภาวัฒนธรรม จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2488 ได้กลายมาเป็น ธนาคารแห่งประเทศไทย และภายหลังในปี พ.ศ. 2536 จึงได้มีการจัดตั้งเป็น พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้น
การให้บริการและการจัดแสดง ภายในพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยได้แบ่งส่วนในการจัดแสดงออกเป็น 2 ชั้น
ชั้นล่างเป็นการจัดแสดงเกี่ยวกับวิวัฒนาการเงินตราในประเทศไทย
ชั้นบนจัดแสดงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวังบางขุนพรหม และประวัติความเป็นมาของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยสามารถแบ่งได้เป็น
ชั้นล่างทางทิศใต้ จัดแสดงเกี่ยวกับ เงินตราที่ใช้ในประเทศไทย ตั้งแต่ในสมัยอดีตจนถึงในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยจะเน้นเกี่ยวกับเหรียญกษาปณ์
ชั้นล่างทางทิศเหนือ จัดแสดงเกี่ยวกับธนบัตรไทย โรงพิมพ์ธนบัตร และวิธีการดูธนบัตรปลอม
ชั้นบน ทางทิศเหนือ จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติ บทบาทหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย และห้องเชิดชูเกียรติผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ชั้นบนทางทิศใต้ เป็นห้องสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระยานครสวรรค์วรพินิตนำเสนอเกี่ยวกับประวัติส่วนพระองค์และราชกุล “บริพัตร” และประวัติความเป็นมาของวังบางขุนพรหม

|