รายงานโครงการศึกษาดูงานเพื่อพัฒนางานจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ณ พิพิธภัณฑ์ และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ และ หอจดหมายเหตุ
พุทธทาส อินทปัญโญ

วันที่ 21 มิถุนายน 2554

จัดโดย   หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วัตถุประสงค์ของโครงการ     
                เพื่อให้บุคลากรของหอจดหมายเหตุและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านเอกสารสำคัญหรือจดหมายเหตุของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เข้าใจงานจัดเก็บ รวบรวม อนุรักษ์ บริการเอกสารจดหมายเหตุและการจัดแสดงเอกสารทางด้านจดหมายเหตุ และพิพิธภัณฑ์ เพื่อนำมาปรับใช้ทั้งในหน่วยงานของตน และพัฒนางานจดหมายเหตุของมหาวิทยาลัยโดยส่วนรวม

ผู้เข้าร่วมโครงการ
     
บุคลากรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 34 คน

                พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์

                 พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ ตั้งอยู่ที่ซอยอารีย์สัมพันธ์ ถนนพระราม 6 เขตพญาไท กรุงเทพมหานครโดยมี  นางสาวรวงทอง ยศธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการประชาสัมพันธ์ กล่าวต้อนรับ จากนั้นนางสาวกรรณิกา  ชีวภักดี หัวหน้าพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์  ได้บรรยายเรื่องการ บริหารและดำเนินงานจดหมายเหตุ  การจัดเก็บเอกสารสำคัญของหอจดหมายเหตุ  การให้บริการ  รวมทั้งงานทางด้านพิพิธภัณฑ์ พร้อมแนะนำฐานข้อมูลคลังภาพและเสียง (http://av.prd.go.th )  ต่อจากนั้นได้พาคณะศึกษาดูงาน ชมพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ และพิพิธภัณฑ์การกระจายเสียง โดยในส่วนของพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2543 อยู่ในอาคารหอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ชั้น 2 เป็นการจัดแสดงสื่อโสตทัศน์ และสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่กรมประชาสัมพันธ์ได้ดำเนินงานในอดีต เช่น แผ่นเสียงเพลงวงสุนทราภรณ์ ซึ่งได้มีการอนุรักษ์ไว้โดยการแปลงเป็นไฟล์เสียงระบบดิจิตอลจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลคลังภาพและเสียง
                 ในส่วนพิพิธภัณฑ์การกระจายเสียง นำเสนอความเป็นมาของวิทยุกระจายเสียงไทยและกรมประชาสัมพันธ์ การประชาสัมพันธ์ทางด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ห้องส่งจำลอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับวิทยุ (ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. (อัมพรสถาน) พระราชวังดุสิต เมื่อพ.ศ. 2495) หอเกียรติภูมิ ปรีชา ทรัพย์โสภา มุมจัดแสดงสื่อโสตทัศน์ กำเนิดสถานีไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม การขยายโทรทัศน์สู่ภูมิภาค และเครื่องมือต่างๆ ในการประชาสัมพันธ์   ในส่วนพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตพญาไท จัดแสดงเรื่องราวความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของเขตพญาไท ชีวิตความเป็นอยู่ ภูมิปัญญาของคนในชุมชนท้องถิ่น

              หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

                   หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ตั้งอยู่ที่สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ถนนนิคมรถไฟสาย 2 แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร คณะศึกษาดููงานได้รับฟังการบรรยายในเรื่องของวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง ตลอดจนรวบรวม ดูแล รักษาเอกสารสื่อธรรมของท่านพุทธทาส การให้บริการสืบค้นเอกสารจดหมายเหตุและสื่อธรรมประเภทต่างๆ ของท่านพุทธทาสจากฐานข้อมูลจดหมายเหตุทางอินเตอร์เน็ต เพื่อสนับสนุนการศึกษา ค้นคว้า วิจัย เผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านศาสนธรรม รวมทั้งจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างสติปัญญาและจิตใจ
                   ในส่วนงานจดหมายเหตุได้ดำเนินการจัดเก็บเอกสารตามมาตรฐาน มีการจัดทำ DIGITAL ARCHIVES PROJECT เพื่อป้องกันการเสียหายและอนุรักษ์เอกสารต้นฉบับ และให้บุคคลทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศสามารถศึกษา ค้นคว้าจากสำเนาได้จากเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
                    จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำชมห้องนิทรรศการ “นิพพานชิมลอง” ซึ่งอยู่ที่ชั้น 2 ด้านหน้าห้องนิทรรศการมีภาพ “แจกดวงตาธรรม” ซึ่งอยู่ในห้อง เสียงสงบใจ ถัดมาเป็นห้องนิพพานที่ข้าพเจ้ารู้จัก เป็นเวทีจัดแสดงสื่อธรรมร่วมสมัยที่หลากหลายในรูปแบบภาพยนตร์ ประติมากรรม และถ้อยคำชวนคิดสะกิดใจ ต่อมาเป็นห้องไตร่ตรองลองชิม เป็นห้องให้ทดลองนั่งสงบ ทำสมาธิ ฝึกสติโดยกำหนดลมหายใจที่เรียกว่า อานาปานสติ ห้องที่สี่เรียกว่า ห้องสงบ เย็น และเป็นประโยชน์ ห้องนี้นำเสนอประวัติของท่านพุทธทาส สิ่งของเครื่องใช้ และผลงานทางธรรมของท่าน สุดท้ายเป็นห้องมุมสื่อสารเพื่อสืบสานปณิธานพุทธทาส เป็นการให้เผยแพร่คำสอนของท่านพุทธทาสผ่านทางไปรษณียบัตรที่พิมพ์คำสอนสำคัญๆ ของท่านพุทธทาสไว้ให้ผู้ใช้บริการส่งถึงตนเองหรือบุคคลที่ต้องการได้