การบรรยายพิเศษเรื่อง
“ศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ :ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์ ปราชญ์ดนตรีไทย"
ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น ๕ อาคารเทพรัตน์วิทยาโชติ
ระยะเวลาการบรรยาย วันที่ 19 สิงหาคม 2553
วัตถุประสงค์ของโครงการ
บุคลากรมหาวิทยาลัยและผู้สนใจ จักได้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติและพัฒนาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ จักได้แสดงความรู้สึกภาคภูมิใจในสถาบัน ได้รู้จักบูรพาจารย์ ผู้ทำประโยชน์แก่มหาวิทยาลัย พร้อมทั้งเสริมความรู้เกี่ยวกับประวัติพัฒนาการของมหาวิทยาลัย เป็นการบันทึกข้อมูลด้านจดหมายเหตุโดยทางอ้อม
ผู้เข้าร่วมโครงการ
บูรพาจารย์ คณาจารย์ นิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบัน บุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัย และผู้ที่สนใจ จำนวน 162 คน
รายละเอียดการบรรยาย
การบรรยายพิเศษเรื่อง " ศาสตราจารย์ ดร. อุทิศ นาคสวัสดิ์: ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์ ปราชญ์ดนตรีไทย" ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 5 ศูนย์นานาชาติสิรินธรฯ อาคารเทพรัตน์วิทยาโชติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553 จัดโดย หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการ
การบรรยายพิเศษในครั้งนี้ ได้รักเกียรติจากรองอธิการบดีฝ่ายอำนวยการ (ผศ. มยุรี เทศผล) เป็นประธานของกล่าวเปิดงานโดย มี ดร.สุรพล จันทราปัตย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ และผู้บรรยายประกอบด้วย ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร , ศ.ดร.กำพล อดุลวิทย์ ( นายกสภามหาวิทยาลัย) และ ศ.ดร. อังศุมาลย์ จันทราปัตย์ บุตรสาว ของ ศ.ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ร่วมบรรยายในครังนี้ได้
ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร กล่าวถึงศ.ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ว่า รู้จักกันตั้งแต่ออกวิทยุโทรทัศนและ แสดงดนตรีไทยตามที่ต่างๆ ศ.ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ เป็นคนทำให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตั้งวงดนตรีไทยเป็นวงแรกของมหาวิทยาลัยเป็นผลให้ทุกมหาวิทยาลัยมีการจัดตั้งวงดนตรีไทยขึ้นบ้าง ศ.ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ เลือกที่จะไปศึกษาต่อที่ Cornell University สามารถเรียนปริญญาเอกจบภายใน 3 ปี ทางด้านการจัดการฟาร์มและเป็นคนแรกที่นำความรู้ในด้านการจัดการฟาร์มเข้ามาในประเทศไทยจนก่อให้เกิด ภาควิชาการจัดการฟาร์มขึ้น
ศ.ดร.กำพล อดุลวิทย์ เป็นผู้ที่ร่วมงานกับ ศ.ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ถือได้ว่าเป็นศิษย์ผู้ใกล้ชิดที่มีชื่อเสียงโด่งดังในทางเศรษฐศาสตร์ ศ.ดร.กำพล อดุลวิทย์ ได้เคยช่วยงานวิจัยของ ศ. ดร. อุทิศ นาคสวัสดิ์ในช่วงเรียนอยู่ปีสุดท้าย ช่วง พ.ศ. 2502 ทางด้าน Farm survey ซึ่งเป็นเรื่องที่ศ.ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ริเริ่มทำเป็นครั้งแรกซึ่งประสบความสำเร็จ สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อย่างมาก ระหว่างการทำงานวิจัยศ.ดร.กำพล อดุลวิทย์ เล่าว่า ศ.ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ มีความตั้งใจและอดทนในการทำงานเป็นอย่างมาก จนกระทั่ง ศ.ดร.กำพล อดุลวิทย์ ็มาทำงานเป็นอาจารย์ผู้ช่วยให้กับศ.ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ การบรรยาย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ของศ.ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ จะเน้นความสนุกสนานในการสอนและยกตัวอย่างง่ายๆแต่ให้ได้ภาพชัดเจนมาสอน พร้อมทั้งเขียนตำราที่เข้าใจง่ายเขียนด้วยภาษาธรรมดา มีภาพมีกราฟสอดแทรกอยู่ถือเป็นการเขียนตำราแนวใหม่ที่ไม่เน้นการบรรยายแต่เพียงอย่างเดียวทำให้ตำราเศรษฐศาสตร์รุ่นต่อมามีการพัฒนาให้น่าอ่านมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ท่านได้ทำงานวิจัยเรื่องสินเชื่อทางการเกษตรในช่วงที่ท่านทำงานประจำที่ยูเนสโก ซึ่งต่อมากลายมาเป็นคัมภีร์สินเชื่อทางการเกษตรเล่มแรกให้ใช้อ้างอิงต่อมา กล่าวถึงในด้านอุปนิสัยของท่าน ศ.ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ใจดีมีความเมตตาให้ความรู้แก่ลูกศิษย์อย่างเต็มความสามารถ และทำงานหนักเสมอมา
ศ.ดร.อังศุมาลย์ จันทราปัตย์ ธิดาคนโตของศ.ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ได้เล่าถึงบรรยากาศสมัยเด็กๆ การอบรมสั่งสอนของท่านที่มักจะไม่ได้สอนด้วยคำพูดแต่สอนด้วยการกระทำให้ดูเป็นตัวอย่างจึงทำให้ลูกๆประสบความสำเร็จได้ทุกคน เรื่องการสอนดนตรีลูกทุกคนและลูกศิษย์ทุกเช้าและเย็นจะต้องไปเรียนดนตรีที่เรือนดนตรี รวมทั้งสอนให้รับผิดชอบทุกอย่างด้วยตัวเอง สอนให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานหนักและความอดทน ปัจจุบันโรงเรียนสอนดนตรีไทยของศ.ดร.อุทิศเพื่อสืบสานวัฒนธรรมทางดนตรีไทยตามปณิธานของท่านก็ยังเปิดดำเนินการอยู่
ผศ.ดร.สุรพล จันทราปัตย์ ในฐานะพิธีกรดำเนินรายการและลูกเขยของศ.ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ กล่าวเสริมเกี่ยวกับเรื่องการครอบครูทางดนตรีไทยของท่านว่าหลังจากสิ้นท่านไปแล้ว ศิษย์ของหลวงประดิษฐ์ไพเราะทางสายนี้ก็ไม่ทันได้รับการครอบครู ผศ.ดร.สุรพล จันทราปัตย์ จึงได้รับการครอบครูจากคุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลงเพื่อให้สามารถอ่านโองการไหว้ครูสืบทอดสายได้ โดยมีอุดมการทำตามแบบเดิมของศ.ดร.อุทิศและคุณหญิงชิ้นคือไม่รับเงินค่าตอบแทนใดๆในการอ่านโองการ
ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร กล่าวปิดท้ายเพิ่มเติมว่า ศ.ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ เป็นเสมือนคนปฏิรูปวงการดนตรีไทย ในเรื่องนักร้องนำเวลาจะเข้าวงจะไม่ออกท่าออกทางแต่ท่านให้เน้นการแสดงออกท่าทางและการนั่งสมัยก่อนตีระนาดนั่งกับพื้นแต่ท่านให้นั่งเก้าอี้ยกระนาดขึ้นมาเพราะว่าต่างชาติที่มาดูการแสดงดนตรีไทยจะชอบเอาเท้าชี้เพราะไม่มีค่านิยมเคารพสิ่งของ แต่ไทยเราจะถือว่าเครื่องดนตรีมีครูจึงจัดให้นั่งสูงขึ้นเป็นต้น
จากนั้นเป็นการแสดงดนตรีไทยจากนักดนตรีและนักร้องกิตติมศักดิ์ เพลงแรกคือ ร่วมแรงสามัคคี พม่ากลองยาว นกเขาขะแมร์ เขมรโพธิสัตย์ แขกกุลิต ลาวเฉียง เพลงครุ่นคำนึงที่ศ.ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ แต่งทำนอง ศ.ดร.ประเสริฐณ นคร แต่งเนื้อร้องซึ่งศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ให้เกียรติร่วมร้อง จากนั้นแขกทุกท่านที่มาฟังการบรรยายได้ร่วมขับร้องเพลงแขกบรเทศ แล้วร่วมรับประทานอาหารพร้อมฟังเพลงจากวงอังกะลุงกิตติมศักดิ์ KU รุ่น20
|