หน้าแรก   นายกสภาฯ   อธิการบดีฯ   ผู้ทำประโยชน์ฯ


รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด เกิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2466 พ่อชื่อนายทัด แม่ชื่อนางคี เป็นลูกชายคนหัวปี มีน้องสาวอีก 4 คน ครอบครัวมีอาชีพทำการเกษตร พ่อของ รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด เป็นคนที่ชอบศึกษาเล่าเรียน ติดต่อค้าขายกับพม่าตั้งแต่อายุ 25 ปี พออายุ 30 ปีก็กลับมาแต่งงาน มีเงินซื้อบ้านหลังหนึ่งประมาณ 40 บาท ซึ่งในสมัยนั้นถือว่ามากทีเดียว เมื่อ รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด มีอายุ 12 ปี ใน พ.ศ. 2478 พ่อได้นำตัวมาฝากไว้ให้เป็นลูกศิษย์วัด โดยได้ติดตามพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุโก ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เพื่อจะได้มาเรียนหนังสือที่โคราช และได้มาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ ซึ่งทำให้ รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด ไม่ได้กลับไปเยี่ยมพ่อ-แม่ เป็นเวลา 9-10 ปี เพราะการเดินทางในสมัยนั้นยังไม่สะดวก

หลังจากที่เรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2494 ก็ได้เรียนต่อในระดับปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะนั้นได้ทำงานเป็นเสมียนพนักงานที่กรมสหกรณ์ กระทรวงการเกษตรด้วย ขณะที่เรียนปริญญาโทนั้นมีคุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ไปสอนปริญญาโท เรื่องเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของวิชาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งสอนร่วมกับอาจารย์ ดร. เสริม ศรีกสิพรรณ เกิดความประทับใจในคุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ว่าท่านเป็นคนเก่ง สอนเข้าใจ ซึ่งแม้ว่า รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด จะเป็นลูกชาวนายังไม่เข้าใจในเรื่องการเกษตรเลย แต่ท่านถามปัญหาทางการเกษตร เช่น ท่านถามว่าไข่เป็ด ไข่ไก่ จะดูว่ามันใหม่หรือสดทำอย่างไร? ท่านบอกว่าไม่ยาก เพราะในสมัยนั้นการขายไข่ไม่ได้ใส่กล่องเหมือนสมัยนี้ ท่านให้จับส่องแสงตะวันหรือแสงไฟ ถ้ามันเป็นแดงๆ แสดงว่ามันสด ถ้าเป็นเส้นๆ แสดงว่ามันกำลังจะฟักเป็นตัวแล้ว ถ้ามันมีเสียงดังก๊อกแก๊แสดงว่ามันมีลมข้างในนั้นกำลังจะเน่าเสีย ซึ่งท่านหลวงสุวรรณฯ บอกว่าใครที่ไม่ได้เรียนเกษตรนี่โง่ ถูกต้มได้ง่าย แม้แต่ไปซื้อไข่ซื้ออย่างไรยังไม่รู้เรื่อง บ้านเมืองเกษตรจะต้องรู้เรื่องเกษตร

พอเรียนจบปริญญา ธ.บ. จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็สอบเป็นข้าราชการสัญญาบัตรได้ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นพนักงานสหกรณ์ตรี ต่อมาได้โอนมาเป็นอาจารย์ตรี แผนกนิติศาสตร์ ของคณะสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในเดือนเมษายน 2497 ตามคำชักชวนของศาสตราจารย์ ดร. ไชยยงค์ ชูชาติ กอปรกับความเลื่อมใสและนับถือในคุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ

ในช่วงที่ รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีบทบาทด้านการสอน โดยสอนวิชากฎหมายสหกรณ์ ซึ่งสมัยนั้นหลักสูตรสหกรณ์จะสอนวิชากฎหมายเป็นส่วนมาก เพราะเป็นหลักสูตรการบริหารจัดการธุรกิจในรูปสหกรณ์เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการบริหารการเงิน การบริหารบุคคล และการบริหารวัตถุทรัพย์สิน เป็นต้น แต่นักเรียนมีไม่มาก ชั้นละ 20 คน ต่อมา รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด สอบได้ทุนช่วยเหลือของรัฐบาลอเมริกันที่ให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปเรียนต่อระดับปริญญาโททางเศรษฐศาสตร์การเกษตร ใน พ.ศ. 2498 ที่ Oregon State University สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 2 ปีครึ่ง ซึ่งเป็นรุ่นแรกของผู้ได้รับทุน หลังจากจบปริญญาโท ก็ได้กลับมาทำงานที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อีก 6 ปีต่อมาก็ได้ทุนไปเรียนต่อในระดับปริญญาเอกที่ Cornell University สหรัฐอเมริกา ในปี 2508 เรียนอยู่ 3 ปีครึ่งก็จบหลักสูตรทุกวิชา สอบข้อเขียนและปากเปล่าได้เป็น Ph.D. Candidate แต่เนื่องจากไม่สบายจึงต้องกลับมาประเทศไทย ทำให้ไม่ได้เสนอปริญญาดุษฎีนิพนธ์ที่เขียนไว้ยังไม่เป็นฉบับสมบูรณ์ แต่ได้หลักฐานว่าจบ Course Work และเป็น Ph.D. Candidate

ขณะทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ หลายตำแหน่ง แต่ที่ รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด อยากเล่าเป็นพิเศษก็คือ เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นผู้ประสานงาโครงการเงินกู้ธนาคารโลกเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ Dr. James H. Jensen อดีตอธิการบดี Oregon State University และเคยเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เดินทางมาจากประเทศสหรัฐอเมริกามาเยี่ยมผู้ใหญ่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเยี่ยมคุยกับ รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด เรื่องโครงการเงินกู้ธนาคารโลกฯ Dr. Jensen สนใจโครงการหนึ่งที่ รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด ริเริ่มจะดำเนินการ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม คือ จะให้ทุนลูกชาวไร่ชาวนามาเรียนเสริมวิชาทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ระดับ ม.4-6 เพราะรู้ว่าโรงเรียนมัธยมต่างๆ ในชนบทในอำเภอต่างๆ รอบบริเวณวิทยาเขตกำแพงแสนขาดแคลนครูผู้มีวุฒิทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์จึงจะหาทุนช่วยเหลือนักเรียน ม.4 ม.5 และ ม.6 ในบริเวณดังกล่าวมาเรียนเสริมวิชาดังกล่าวในฤดูร้อน โดยให้ครูโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่วิทยาเขตกำแพงแสนเป็นผู้สอน โดยให้ค่าสมนาคุณตามสมควร และจะชี้ชวนให้นักเรียนที่มาเรียนเสริมเมื่อสำเร็จการศึกษา ม.6 แล้วให้มาสมัคเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งนี้เพราะโครงการนี้จะสนับสนุนให้ลูกชาวไร่ชาวนาสอบเข้าศึกษาใน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจจะกลับไปทำงานเกษตรที่พ่อแม่สร้างรากฐานไว้ รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด ได้เล่าให้ Dr. Jensen ฟังว่าหลังเสร็จโครงการเงินกู้ฯ แล้ว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะทำอะไรบ้างจะขยายและพัฒนาการให้การศึกษาและวิจัยด้านใด จะช่วยสร้างครูอาจารย์และนักวิจัยด้านเกษตรศาสตร์ให้แก่สถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในภูมิภาคอย่างไร เพิ่มนิสิตด้านใด ฟังแล้ว Dr. Jensen พอใจและพูดกับ รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด ว่ามีอะไรที่ชาวต่างประเทศมองอุปนิสัยคนไทย อยากจะบอก Dr. Jensen บอกว่าคนไทยจะมีนิสัยดังนี้ Thai people are very good in bad situation but very bad in good situation และอธิบายเพิ่มว่าครูอาจารย์และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์จะดีมาก เก่งมาก ตั้งใจทำงานมาก ในขณะที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่ในภาวะยากจน แต่เมื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่ในภาวะที่ดีขึ้นจากการพัฒนาด้านต่างๆ ด้วยเงินกู้แล้ว ครูอาจารย์และเจ้าหน้าที่จะดีมาก เก่งมาก และตั้งใจทำงานมาก เหมือนอยู่ในภาวะก่อนนี้หรือเปล่า?

เมื่อทำงานใน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มากว่า 30 ปี รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด ก็ขอลาออก เมื่อมิถุนายน พ.ศ. 2525 ก่อนเกษียณอายุราชการประมาณ 3 ปี เพื่อไปเป็นผู้เชี่ยวชาญของบริษัทที่ปรึกษาของเยอรมนีคือ GAE ทำหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสินเชื่อเกษตร และเป็นหัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญคนไทยอีก 5 คน ในโครงการเงินกู้เพื่อการฝึกอบรมของสหกรณ์การเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ ต่อมาปี 2531 ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจชนบทของโครงการเงินกู้ Oversea Economic Cooperation Fund (OECF) ของประเทศญี่ปุ่น ของกรมชลประทาน สำหรับพัฒนาโครงการชลประทานขนาดเล็กทั่วประเทศ ต่อมาปี 2532 ได้รับติดต่อให้ไปดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ และต่อมาในปี 2533 ได้รับติดต่อให้ไปดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก และลาออกจากมหาวิทยาลัยเกริกเมื่อสิ้นปี 2541

ขณะทำงานในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกจากตำแหน่งอาจารย์ชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก และชั้นพิเศษ ตามลำดับแล้ว รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด ยังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร (คนที่ 2 ต่อจากศาสตราจารย์ ดร.ไชยยงค์ ชูชาติ) เป็นผู้ประสานงาโครงการเงินกู้ธนาคารโลก เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วงเงินประมาณ 800 ล้านบาท ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบ้านพักและสวัสดิการ ตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการประชากรศึกษาในภาคเกษตรกรรม ตำแหน่งกรรมการจัดตั้งหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ตำแหน่งกรรมการจัดตั้งหลักสูตรปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์เกษตร เป็นต้น

สำหรับโครงการเงินกู้ธนาคารโลกเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด ได้เป็นผู้หนึ่งในคณะผู้แทนประเทศไทยไปเจรจาเรื่องเงินกู้กับธนาคารโลก กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา โดยมีท่านทูตสุนทร หงส์ลดารมย์ เป็นหัวหน้าคณะ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นรองหัวหน้าคณะ และได้ดำรงตำแหน่งผู้ประสานงาโครงการเงินกู้นี้เป็นเวลา 9 ปี จนการก่อสร้างอาคารสถานที่ วิทยาเขตบางเขน และวิทยาเขตกำแพงแสนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สำเร็จเรียบร้อย

การขยายงานของมหาวิทยาลัยเกษตรออกเป็น 2 วิทยาเขตนี้ รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด ได้ติดตามพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ไปศึกษาข้อดีข้อด้อยของมหาวิทยาลัยที่มีหลายวิทยาเขตที่ University of California, Davis ประมาณ พ.ศ. 2514 และได้แวะดูงานพัฒนาของ University of Hawaii ด้วยในเรื่องการออกแบบอาคารสถานที่ว่าการออกแบบอาคารสถานที่ใหม่ในบริเวณมหาวิทยาลัยที่มีอาคารสถานที่เก่าอยู่ก่อนนั้น ทำอย่างไรจึงจะทำให้ของใหม่และของเก่ากลมกลืนกันและกัน รวมทั้งการสร้างศูนย์เรียนรวม และหอพักนิสิตรวมไม่แยกเป็นของแต่ละคณะวิชานั้นให้ประโยชน์ทางสังคม และเศรษฐกิจต่างกันอย่างไร เป็นต้น

ใน พ.ศ. 2530 มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ (ขณะนั้นเป็นวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์) ได้เชิญ รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด ไปดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด ได้ริเริ่มให้จัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัย และจัดสร้างหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาการบริหารธุรกิจขึ้นในมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ รวมทั้งเป็นผู้ริเริ่มชี้ชวนอาจารย์และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ จัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์จำกัดขึ้น ซึ่งเจริญเติบโตมาจนบัดนี้ ทั้งนี้เพื่อเป็นงานสวัสดิการส่วนหนึ่งของคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์

ประมาณ พ.ศ. 2532 มูลนิธิสถาบันที่ดิน และ Standford University ได้เชิญให้รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด เป็นหัวหน้าโครงการการศึกษาเรื่องตลาดที่ดินและที่พักอาศัย (Land and Housing Market) ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้ทำงานนี้จนเสร็จโครงการใน พ.ศ. 2533 ดร. แสง สงวนเรือง อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีสังคม (เกริก) หรือ มหาวิทยาลัยเกริกในปัจจุบัน ได้เชิญ รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด ไปดำรงตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ เป็นผู้อำนวยการโครงการบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด ได้ริเริ่มปรับปรุงหลักสูตรปริญญาตรี และปริญญาโทสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ ให้มีสาขาวิชาเอก 4 สาขา คือ เศรษฐศาสตร์การเงินการธนาคาร เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ เศรษฐศาสตร์พัฒนา และเศรษฐศาสตร์ทั่วไป พร้อมกับบรรจุวิชาเศรษฐศาสตร์การเงินการธนาคารของประเทศอาเซียน เศรษฐศาสตร์ธุรกิจของประเทศอาเซียน เศรษฐศาสตร์พัฒนาของประเทศอาเซียนไว้ในหลักสูตรทั้งสองระดับเพื่อเตรียมบัณฑิตไว้ให้เหมาะแก่งานกิจการกลุ่มประเทศอาเซียนของประเทศไทย งานสวัสดิการอาจารย์และเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเกริกที่ รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด ริเริ่มจัดตั้งขึ้นไว้ก็คือ สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเกริก จำกัด ซึ่งเป็นประโยชน์แก่อาจารย์และเจ้าหน้าที่ และแก่มหาวิทยาลัยเป็นอันมาก และสหกรณ์นั้นได้เจริญก้าวหน้ามาด้วยดี รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด ทำงานให้มหาวิทยาลัยเกริกในตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ เป็นเวลา 8 ปี ได้ลาออกเมื่อสิ้น พ.ศ. 2540 ได้ร่วมพัฒนากิจการวิชาการ เช่น หลักสูตรใหม่ระดับปริญญาตรีและปริญญาโทหลายหลักสูตร และกิจการด้านอาคารสถานที่ รวมทั้งทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยเกริกที่เป็นรูธรรมซึ่งวัดเป็นจำนวนเงินได้เป็นจำนวนมากขึ้นกว่าที่มีอยู่ก่อน รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด เข้าไปร่วมงานบริหารมหาวิทยาลัยเกริก

เมื่อ พ.ศ. 2527 รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด ได้รับแต่งตั้งจากทบวงมหาวิทยาลัยให้เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์สหกรณ์มหาบัณฑิตของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ (สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ในเวลานั้น) หลังจากที่ภาควิชาเศรษฐศาสตร์และสหกรณ์การเกษตร คณะธุรกิจการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้รับอนุมัติให้เปิดสอนหลักสูตรวิชาเศรษฐศาสตร์สหกรณ์มหาบัณฑิตได้ในปีการศึกษา 2528 รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด ได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ว่าด้วยกฎหมายสหกรณ์เปรียบเทียบ และวิชาเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ว่าด้วยการตลาดสหกรณ์ขั้นสูง ติดต่อกันมาทุกปีการศึกษา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2528 จนถึงปัจจุบัน (ปี 2545) สำหรับวิชากฎหมายสหกรณ์เปรียบเทียบ รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด ได้เขียนเอกสารคำสอน พิมพ์เผยแพร่ 2 เรื่อง คือ (1) คำอธิบายกฎหมายสหกรณ์ในฐานะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเกษตรและสถาบันเกษตรกรโดยย่อ (2) คำอธิบายกฎหมายสหกรณ์พร้อมการวิเคราะห์เชิงนิติศาสตร์ประยุกต์ และเชิงเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ และได้แปลเอกสารต่อไปนี้ คือ

(1) กฎหมายว่าด้วยสหกรณ์การเกษตรของประเทศญี่ปุ่น

(2) กฎหมายว่าด้วยสหกรณ์การเกษตรประเทศสาธารณรัฐเกาหลี

(3) กฎหมายสมาคมสหกรณ์ของประเทศสิงคโปร์

(4) กฎหมายว่าด้วยบทบัญญัติพื้นฐานสำหรับสหกรณ์ของประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย

(5) กฎหมายสมาคมสหกรณ์ของประเทศสหพันธ์รัฐมาเลเซีย

(6) กฤษฎีกาของประธานาธิบดีว่าด้วยการส่งเสริมขบวนการสหกรณ์ของประเทศฟิลิปินส์

(7) กฎหมาย สหกรณ์การดำรงชีพของผู้บริโภคของประเทศญี่ปุ่น

ในปีการศึกษา 2538 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้มอบปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ให้แก่ รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด และใน พ.ศ. 2543 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ประกาศแต่งตั้งให้ รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด เป็นนักสหกรณ์แห่งชาติ สาขาวิชาการสหกรณ์ รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาธินัดดามาตุ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม 2543

รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด บอกว่าหลักการดำเนินชีวิตและการทำงานของตนนั้นมาจากสิ่งที่ฝังอยู่ในจิต มันชี้นำชีวิตตลอดมา พ่อเคยบอกว่าอยู่ที่นี่ก็เป็นอย่างนี้นะลูก อยู่กับนาแค่นี้มีวัวมีควายก็เลี้ยงดูไปไม่รู้เห็นอะไรใหม่ๆ ไม่เห็นบ้านเมืองใหญ่ๆ ไม่ได้เล่าเรียนเป็นเจ้านาย ทำไร่ทำนาหากินอยู่กับดิน แต่เด็กชายอาบก็ไม่ตกลงปลงใจ วันสุดท้ายคล้ายชะตาชีวิตจะต้องจากการเป็นเด็กบ้านนอก คุณพ่อบอกว่าได้ยินว่าทางบ้านเมืองกำลังสร้างทางรถไฟจากเมืองโคราชมาเมืองขอนแก่น พ่อเคยนั่งรถไฟที่พม่ามันยาวเป็นขบวนเหมือนกิ้งกือมีหัวรถไฟนำหน้าพาขบวนรถวิ่งไปตามรางเหล็ก พอมืดหน่อยจะเห็นหัวรถไฟพ่นสะเก็ดไฟออกมาพุ่งขึ้นฟ้าเหมือนที่เราเล่นไฟตะไลในงานบุญ แต่ไฟตะไลจากหัวรถไฟจะใหญ่มากกว่าพุ่งไปสูงขึ้นฟ้าตลอดทางจนถึงสถานีรถไฟปลายทาง ลูกลงไปเมืองโคราชกับท่านอาจารย์คราวนี้อาจจะได้นั่งรถไฟเหมือนที่พ่อนั่งที่เมืองพม่าก็เป็นได้ สิ่งที่พ่อเล่าเรื่องรถไฟมันเข้าไปฝังในจิตใจของลูกทันที ลูกชายนาทัดไม่สนใจความเจริญของบ้านเมือง ความเป็นเจ้าเป็นนาย ความเป็นป่าเป็นไร่นาของชีวิตชนบท แต่สนใจเรื่องรถไฟและขบวนรถไฟที่เวลาวิ่งเหมือนกิ้งกือ และหัวรถไฟมีการพ่นตะไลไฟพวยพุ่งขึ้นไปในอากาศ ลูกชายจึงตอบตกลงกับพ่อว่าไปเมืองโคราชก็ได้พ่อ

รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด เล่าว่าคงจะเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในจิต ซึ่งเป็นบุญเก่าและบุญใหม่ที่มีพ่อแม่ที่ดี และได้อยู่อาศัยกับผู้ปกครองที่ดี พร้อมกับมิตรสหายที่ดี จึงทำให้ รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด ทำสิ่งที่เป็นมูลค่าเพิ่มของชีวิตตลอดมา เพราะมีสิ่งหนึ่งในจิต คอยชี้นำเหมือนแม่เหล็กที่ขั้วโลกเหนือชี้นำทางทำมูลค่าเพิ่ม จึงเขียนไว้เพื่อเตือนใจตนเองและลูกหลาน คือ

อันชีวา
มีค่าเพิ่ม
ที่เติมได้
ผู้ที่ไม่ มีค่าเพิ่ม
คือเริ่มถอย
จงทำดี ที่ก้าวหน้า
อย่ารอคอย
ทีละน้อย ค่าจะเพิ่ม
กว่าเดิมเอง

การเพิ่มมูลค่าให้กับตนเองนั้นคนหนุ่มสาวมีหน้าที่ต้องทำตาวัยก็คือ การศึกษาตามลำดับชั้นให้สำเร็จก็จะเป็นมูลค่าเพิ่มของชีวิตในด้านการศึกษา การกล่าสวัสดีและทำการคารวะต่ออาจารย์ก็เป็นมูลค่าเพิ่ม การกลับมาจากโรงเรียนแล้วไหว้และกล่าวสวัสดีกับพ่อแม่ก็ถือว่าสร้างมูลค่าเพิ่ม การช่วยงานบ้าน ซักเสื้อผ้าเอง รีดผ้าเอง แม้จะมีคนทำให้ก็ตั้งใจทำเองเพื่อฝึกตน ก็ถือว่าสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตน ถ้าอยู่ในวัยเป็นพ่อแม่ก็แสดงความรักความห่วงใยในลูกเสมอ พูดและจ้องดูตาลูกที่ยังอยู่ในวัยที่พ่อแม่ต้องเป็นผู้ปกครองว่าพ่อรักลูกนะ พ่อหวังพึ่งว่าลูกจะเป็นคนดีนะ แม่รักลูกนะ แม่หวังพึ่งว่าลูกจะนำความภาคภูมิใจในความสำเร็จในชีวิตของลูกนะ การทำตนให้เป็นศาสนิกชนที่ดีงามของศาสนาที่ตนศรัทธาเลื่อมใสอะไรเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ชีวิตเหมือนกัน

รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด กล่าวว่าในการเป็นหัวหน้าคนในครอบครัวก็ดี ในหน่วยงานก็ดี ต้องรู้จักคนในครอบครัวหรือในหน่วยงานว่าคนนั้นๆ มีนิสัยใจคออย่างไร เขาอยู่ในฐานะอะไร คุณสมบัติของการเป็นผู้นำคนนั้น เท่าที่มีประสบการณ์และสังเกตเห็นมาในชีวิตผู้นำต้องมีจินตนาการ ต้องมีความสามารถในการจับประเด็นของเรื่องของปัญหา ต้องมีความเป็นธรรมและที่สำคัญก็คือความอดทนและอดกลั้นในการเป็นผู้นำ เคยเขียนเป็นกลอนบอกลูกชายซึ่งได้รับแต่งตั้งจากหน่วยงานให้เดินทางไปดำรงตำแหน่งในต่างประเทศเป็นหัวหน้าหน่วยงานระดับหนึ่งไว้ คือ

ทนความโง่
คนอื่น
ได้ดื่นดาด
ทนความฉลาด คนอื่น
ได้หมื่นแสน
โง่ฉลาดตน คนอื่นทน
ได้ทั่วแดน
เรียกว่าแมน คนผู้นำ
ล้ำเลิศเอย.

รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด กล่าวว่าอยากเห็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นหน่วยนำความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกว่าเดิมและยั่งยืนในการพัฒนาการเกษตร รวมทั้งยกระดับรายได้ของครัวเรือนเกษตรกรให้สูงขึ้นต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยของประชากรทั้งประเทศไม่เกิน 3-5 เท่าตัว ไม่ใช่ต่ำกว่าถึง 12 เท่าตัวเช่นในเวลานี้ วัตถุประสงค์และบุคคลกลุ่มเป้าหมายที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะส่งเสริมและพัฒนาเป็นหลักนั้นควรจะเหมือนเดิมคือ เศรษฐกิจภาคเกษตรและครัวเรือนเกษตรกร

อยากเห็น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบราชการที่ไม่เหมาะสมกับการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยตามระบบสากล มีการบริหารบุคคล บริหารการเงิน และบริหารวัตถุอุปกรณ์ตามระบบมหาวิทยาลัย

อยากเห็นคณาจารย์เจ้าหน้าที่และนิสิตของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มุ่งมั่นสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ตนเอง รวมทั้งมูลค่าเพิ่มในการเป็นผู้นำ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น หากคณาจารย์เจ้าหน้าที่และนิสิตมีมูลค่าเพิ่ม มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ก็จะมีมูลค่าเพิ่มตามไปด้วย

รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดคือ ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (พ.ศ. 2522)

รองศาสตราจารย์อาบ นคะจัด สมรสกับนางสาวชูศรี (ฉายางาม) นคะจัด ใน พ.ศ. 2503 มีบุตรธิดา 4 คน คือ น.ส. อาภาศิริ นคะจัด นายอาศักดิ์ นคะจัด (สมรสแล้ว มีบุตรธิดา 2 คน) น.ส. อัปสรวรรณ นคะจัด และนางสาวอนันต์พร นคะจัด

แหล่งข้อมูล

อาบ นคะจัด. สัมภาษณ์, 5 เมษายน 2544.

อาบ นคะจัด. สมุดประวัติประจำตัวข้าราชการกระทรวงเกษตราธิการ, 2491.