หน้าแรก   นายกสภาฯ   อธิการบดีฯ   ผู้ทำประโยชน์ฯ


ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน เกิดเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2478 ที่ตำบลเสาชิงช้า อำเภอพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของ นายสุดใจ และนางเกื้อ จินายน ครอบครัวเป็นทหารอากาศ คุณพ่อเป็นนักบิน คุณตาเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ น้องชายและญาติหลายคนเป็นนักบิน

เมื่อเยาว์วัย ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนวัฒนสินวิทยาลัย ใกล้ประตูน้ำ จบเพียงประถมปีที่ 2 ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง จึงต้องอพยพหนีภัยไปอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เข้าเรียนที่โรงเรียนประจำอำเภอหล่มสัก จนจบชั้นประถมปีที่ 4 ซึ่งเป็นระยะปลายสงคราม จากนั้นได้ย้ายกลับมายังกรุงเทพฯ และเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ 1 จนถึงชั้นมัธยมปีที่ 8 เมื่อจบชั้นมัธยมปีที่ 8 แล้ว ได้มาสอบเข้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ใน พ.ศ. 2496 เรียนอยู่เพียง 2 ปี ก็สอบชิงทุนไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาได้ และเข้าเรียนที่ University of California, Berkeley ทางด้าน Plant Genetics จนจบปริญญาตรีใน พ.ศ. 2501 จากนั้นไปเรียนต่อที่ Iowa State University ได้รับปริญญาโททาง Genetics ใน พ.ศ. 2503 และกลับมารับราชการที่มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2504 ต่อมาได้รับทุน Rockefeller Foundation ใน พ.ศ. 2506 ไปทำปริญญาเอกที่ Iowa State Universityอีกครั้งหนึ่ง เรียนจบปริญญาเอกทาง Plant Breeding ใน พ.ศ. 2509

ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน เป็นผู้ที่มีความสามารถในหลายๆ ด้าน เป็นทั้งนักคิด และนักปฏิบัติควบคู่กันไป ดังที่ได้ตั้งชื่อหนังสือที่ระลึกอายุครบ 60 ปี ไว้ว่า คิดแล้วต้องทำให้เกิดผล

ทางด้านการเรียนการสอน มีงานเด่นในเรื่องการปรับปรุงวิชาพันธุศาสตร์และวิชาการปรับปรุงพันธุ์พืช ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน มีความเห็นว่าวิชาพันธุศาสตร์เป็นวิชาพื้นฐานที่สำคัญมาก นิสิตทุกคณะจะต้องเรียนเพื่อให้มีความเข้าใจถึงวิวัฒนาการต่างๆ ของธรรมชาติอันจะนำไปสู่กระบวนการทางความคิดในการปรับปรุงพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ วิชาพันธุศาสตร์ เป็นวิชาที่นิสิตในสมัยนั้นกลัวกันมาเพราะถือว่ายาก เพราะต้องรอบรู้ในวิชาที่เกี่ยวข้องหลายๆ เรื่อง เช่น วิชาชีววิทยา วิชาคณิตศาสตร์ วิชาสถิติ เป็นต้น ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน ได้พยายามอย่างมากให้นิสิตมีความเข้าใจและรักวิชานี้ ซึ่งก็ได้ผลเป็นอย่างดี มีลูกศิษย์ลูกหาหลายคน ที่ต่อมาได้กลายเป็นนักปรับปรุงพันธุ์มือดีของประเทศ ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน เป็นผู้ที่มีจิตใจอ่อนโยนและมีเมตตาต่อศิษย์ทุกคน เป็นอาจารย์ที่ลูกศิษย์รักใคร่ และเคารพนับถือมาก ตำราพันธุศาสตร์ที่ ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน เขียนขึ้นนั้น เป็นตำราภาษาไทยเล่มแรกของประเทศไทย นอกจากการสอนแล้ว ยังมีนิสิตมาทำวิทยานิพนธ์ด้วยจำนวนมาก ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน จะให้ความเอาใจใส่ใกล้ชิด คอยช่วยเหลือแนะนำ แก้ปัญหา และตรากตรำทำงานร่วมกับนิสิตอย่างไม่ลดละ นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดี ที่ลูกศิษย์ถือเอาเป็นแบบอย่าง

สำหรับงานวิจัยซึ่งนับว่าเป็นจุดเด่นอย่างยิ่งของ ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน นั้น ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน เล่าว่า เมื่อเรียนจบกลับมาใหม่ๆ นั้น มีความสนใจที่จะทำเรื่องพันธุศาสตร์ของข้าว โดยพยายามจะปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ต้านทานโรคและแมลง แต่ต่อมาอธิการบดี (ศาสตราจารย์อินทรี จันทรสถิตย์) ได้แนะนำให้ทำการวิจัยเรื่องข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งในระยะนั้นยังไม่ค่อยจะมีการทำวิจัยเลย ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน เห็นว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์น่าจะมีอนาคตที่ดี จะสามารถเป็นสินค้าส่งออกได้ จึงได้เริ่มลงมือทำการวิจัยในเรื่องนี้ ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน มีหลักการอยู่ว่า เป้าหมายของงานวิจัยจะต้องให้สอดคล้องกับสภาพของเกษตรกร ถ้าทำลูกผสมที่ต้องใช้เทคโนโลยีสูงเกินไปเมื่อทำการปลูก เกษตรกรก็จะรับไม่ได้ ในระยะนั้นได้เกิดโครงการประสานงาปรับปรุงการผลิตข้าวโพดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทุน Rockefeller Foundation ทำให้งานวิจัยเป็นไปด้วยดี และในที่สุดก็ได้ข้าวโพดที่สำคัญมากสำหรับประเทศไทย คือพันธุ์สุวรรณ 1 เมื่อ พ.ศ. 2518 อันเป็นพันธุ์หลักที่เกษตรกรใช้ปลูกกันทั่วประเทศ ทำให้ฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้นอย่างมาก ข้าวโพดพันธุ์สุวรรณ 1 นี้ ต่อมาก็ได้ใช้เป็นพันธุ์หลักในการทำข้าวโพดลูกผสมอีกหลายพันธุ์ และหลายประเทศในโลกก็ได้นำไปใช้ด้วย และจากผลงานวิจัยในเรื่องนี้ ทำให้ ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2517 และนานาชาติรู้จัก ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน ในนามของ บิดาแห่งข้าวโพดพันธุ์สุวรรณ 1

เนื่องจากเป็นผู้ที่มีฝีมือดีในเรื่องงานวิจัย ทางศูนย์วิจัยนานาชาติเรื่องข้าวโพดและข้าวสาลี (CIMMYT) ที่ประเทศเม็กซิโก จึงได้เชิญให้เป็น Visiting Scientist ในระหว่าง พ.ศ. 2511-2513 ใน พ.ศ. 2521-2522 ประเทศไนจีเรียเชิญไปเป็น Agricultural Consultant และปฏิบัติงานให้กับประเทศ Upper Volta ด้วย นับว่าเป็นเกียรติแก่ประเทศชาติเป็นอย่างมาก

เมื่อพูดถึง ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน ใครๆ ก็จะนึกถึงความเป็นนักวิจัยชั้นเยี่ยม แต่ในระยะหลังของชีวิตการทำงาน ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน ได้แสดงให้เห็นว่าการเป็นนักบริหารที่เก่งกล้าสามารถก็เป็นได้

ใน พ.ศ. 2522 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ขอโอนตัวไปช่วยราชการ และได้ดำรงตำแหน่งคณบดี คณะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ พ.ศ. 2522 ถึง 2529 ได้สร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่คณะเป็นอย่างมาก

ใน พ.ศ. 2529 ศาสตราจารย์ ดร. สุธรรม อารีกุล ได้รับเลือกให้เป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์จึงได้ขอร้องให้ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน กลับมาช่วยที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง โดยให้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีประจำวิทยาเขตกำแพงแสน ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน ดำรงตำแหน่งนี้อยู่ถึง พ.ศ. 2533 ได้ปรับปรุงพัฒนาวิทยาเขตกำแพงแสนไปได้มาก หลังจากนั้นคือในช่วงปี พ.ศ. 2533-2535 ได้ย้ายกลับมายังวิทยาเขตบางเขน ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา

ใน พ.ศ. 2535 ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรเกิดมีปัญหาเกี่ยวกับการบริหารงานบุคลากร ทางสภามหาวิทยาลัยนเรศวรจึงได้มาเชิญ ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน ให้ไปช่วย ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน ได้ไปเป็นอธิการบดีอยู่ที่มหาวิทยาลัยนเรศวรถึง 9 ปี ได้แก้ปัญหาและสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่มหาวิทยาลัยฯ เป็นอย่างมาก

เมื่อพ้นจากตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยนเรศวรแล้ว มหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งก็ได้มาเชิญให้ ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน ไปเป็นอธิการบดี เนื่องจากเห็นฝีมือในการบริหาร แต่ ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน ได้เลือกที่จะไปเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเอกชนคือ วิทยาลัยโยนก อยู่ที่จังหวัดลำปาง ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน มีเหตุผลว่าทำงานกับรัฐมามากแล้ว อยากจะไปทำกับเอกชนดูบ้าง เพื่อหาประสบการณ์ใหม่ๆ และต้องการช่วยเด็กที่มีความต้องการจะเรียน ให้ได้เรียน ซึ่งต่อไปจะได้เป็นคนดีของสังคม

จะเห็นได้ว่า ชีวิตการทำงานของ ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน นั้น ทำได้ดีในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอน งานวิจัย หรืองานบริหาร

จากความสามารถหลายๆ ประการนี้ ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน จึงได้รับรางวัล และเกียรติยศต่างๆ มากมาย ดังต่อไปนี้

พ.ศ. 2509 Sigma Xi และ Gamma Delta. Honorary Society. Iowa State University Chapter.

พ.ศ. 2517 รางวัลผลงานดีเด่นรางวัลที่ 2 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เรื่อง การใช้เชื้อพันธุกรรมของข้าวโพดให้เป็นประโยชน์ในประเทศไทย

พ.ศ. 2518 Award of Honor สมาคมวิทยาศาสตร์เกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะผู้พัฒนาข้าวโพดพันธุ์ใหม่

พ.ศ. 2523 ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พ.ศ. 2526 ภาคีราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2529 Award of Honor สมาคมวิทยาศาสตร์เกษตรแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ ในฐานะการส่งเสริมและพัฒนาการข้าวโพด

พ.ศ. 2529-2530 Executive Board Member Association of Asian Agricultural Colleges and Universities SEARCA Philippines.

พ.ศ. 2531 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ Commardeur dans l'Ordove des Palmes Accedemiques สาขาเกียรติคุณทางการเกษตร ชั้น Officier du Merite Agrigole จากรัฐบาลฝรั่งเศส

พ.ศ. 2533 นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

พ.ศ. 2535 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาวชิรมงกุฎ

ในชีวิตส่วนตัวนั้น ผู้ที่ใกล้ชิดกับ ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน ต่างยอมรับว่า ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน เป็นสุภาพบุรุษใจใหญ่ งานเป็นงาน เล่นเป็นเล่น เป็นนักวิจัย นักวิชาการ นักการศึกษา และนักบริหารที่มีแนวคิดและไตล์ไม่เหมือนใคร และเป็น คนเด่น ในระดับนานาชาติอย่างแท้จริง

ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน สมรสกับ คุณสิริวรรณ นามสกุลเดิม วิมลโนมีบุตรชาย 1 คน คือ นายพันลึก จินายน เป็นครอบครัวเล็กๆ ที่อบอุ่น

ชีวิตของ ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน นับได้ว่าเป็นชีวิตของบุคคลตัวอย่างที่น่าชื่นชม เป็นผู้ที่ได้ตอบแทนบุญคุณของแผ่นดินอย่างคุ้มค่า เป็นผู้ที่ทำงานเพื่อส่วนรวม และมีความเก่งในทุกๆ ด้านอย่างที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือนได้ยาก

แหล่งข้อมูล

สุจินต์ จินายน. สัมภาษณ์, 17 เมษายน 2545.

สุจินต์ จินายน. สมุดประวัติประจำตัวข้าราชการสำนักนายกรัฐมนตรี, 2504.

หนังสืออนุสรณ์ครบรอบ 60 ปี ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน. [ม.ป.ท. : ม.ป.พ.], 2538.