หน้าแรก   นายกสภาฯ   อธิการบดีฯ   ผู้ทำประโยชน์ฯ


ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ นคร เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2461 ที่จังหวัดแพร่ เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวน 8 คนของนายบุญเรืองกับนางกิมไล้ นคร สมรสกับนางสาวเยาวลักษณ์ ลีละชาต มีบุตรชื่อนายปิยพร นคร และสมรสกับนางสาวสมทรง โหตระกิตย์ มีธิดาชื่อนางเสมอใจ บุญวิวัฒน์ (ณ นคร)

การศึกษา ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ นคร สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนนารีรัตน์แพร่ สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนพิริยาลัย จังหวัดแพร่ สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7-8 จากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ เรียนซ้ำชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เพื่อให้มีสิทธิ์สอบชิงทุนเล่าเรียนหลวง สำเร็จปริญญาตรี (สาขาเกษตรวิศวกรรม) จาก University of the Philippines at Los Banos ด้วยทุน ก.พ. ปริญญาธรรมศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทและเอกทางสถิติจาก Cornell University สหรัฐอเมริกา ประกาศนียบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 11

เริ่มเข้ารับราชการเป็นนักเกษตรผู้ช่วยโท แผนกปฐพีวิทยาและอาจารย์วิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน กรมเกษตรและการประมง กระทรวงเกษตราธิการ (9 พฤษภาคม 2482) ต่อมาย้ายไปที่สถานีทดลองเกษตรกรรมแม่โจ้และเป็นอาจารย์ (1 ตุลาคม 2482) และกลับมาเป็นอาจารย์โทแผนกวิศวกรรม สำนักงานคณะเกษตรศาสตร์ (1 มกราคม 2487) เลขานุการคณะเกษตรศาสตร์ (12 ธันวาคม 2489) เลขาธิการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (15 กุมภาพันธ์ 2490) ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย (30 พฤษภาคม 2503) รองอธิการบดี (9 มกราคม 2507 - 28 กันยายน 2515) รักษาการในตำแหน่งคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย (29 กันยายน 2509) รักษาการเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติและรองเลขาธิการฝ่ายสังคมศาสตร์ สภาวิจัยแห่งชาติ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย (29 กันยายน 2515 - 30 กันยายน 2522)

คนจบเมืองนอกต้องไปอยู่บ้านนอก

ใน พ.ศ. 2482 เมื่อตั้งวิทยาลัยเกษตรในเกษตรกลางบางเขนแล้ว ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ นคร ได้ย้ายมาอยู่ในบางเขน ขณะนั้นมีคณะเกษตร คณะประมง คณะวนศาสตร์ และคณะสหกรณ์ โดยมีศาสตราจารย์หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัย และศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ นคร เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ

ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ นคร เล่าว่า

…พอถึงกลางปี 2482 นั้น ผมถูกสั่งย้ายไปอยู่ที่แม่โจ้ เนื่องจากนโยบายของกรมเกษตรที่อยากจะให้คนจบจากเมืองนอกต้องไปอยู่บ้านนอกเพื่อจะได้รู้ว่า เมืองไทยส่วนใหญ่เป็นบ้านอก เดี๋ยวจะเข้าใจผิดว่ากรุงเทพฯ เป็นตัวแทนของเมืองไทย...ผมอยู่ที่สถานีทดลองการเกษตรแม่โจ้ตั้งแต่ พ.ศ. 2482 ถึง พ.ศ. 2486 และได้ช่วยสอนในโรงเรียนมัธยมเกษตรด้วย

ไม่ชอบเรื่องการบริหาร แต่ต้องทำหน้าที่บริหาร

ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ นคร ได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่บางเขนเมื่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้น คุณพระช่วงเกษตรศิลปการ เป็นคณบดีคณะเกษตรได้แต่งตั้ง ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ นคร ให้เป็นเลขานุการคณะเกษตร ซึ่งท่านไม่ชอบการบริหารเลย แต่ต่อมาโชคชะตาบันดาลให้ต้องทำหน้าที่บริหารมาโดยลำดับ นับตั้งแต่เป็นเลขาธิการมหาวิทยาลัย รองอธิการบดี รักษาการคณบดีคณะที่จัดตั้งขึ้นใหม่ และดำรงตำแหน่งปลัดทบวงมหาวิทยาลัย จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ท่านเล่าไว้ตอนหนึ่งว่า

…ผมเองอยากจะเป็นอาจารย์สอนหนังสือมากกว่า แต่มาทำงานในฝ่ายบริหารนี่ เมื่อมาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว เขาเริ่มคิดให้มีข้าราชการประจำเป็นอธิการบดี โดยแต่เดิมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรเป็นอธิการบดี และปลัดกระทรวงเกษตรเป็นรองอธิการบดี คุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจนั้นเป็นเลขาธิการ คุณทวี บุณยเกตุ มาเจรจาขอให้คุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจช่วยเป็นอธิการบดีคนแรกท่านก็ขอร้องไป 3 ข้อ มีเงื่อนไขว่า ถ้าจะให้เป็นอธิการบดีนั้น ประการที่ 1. จะต้องหาเงินพิเศษมาให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 400,000 บาท สี่แสนในตอนนั้นถ้าจะพูดเดี๋ยวนี้ก็คือ 40 ล้าน ท่านบอกว่ามหาวิทยาลัยนี้มีงบประมาณน้อยเกินไป ไม่สามารถจะปรับปรุงให้ดีได้อย่างใจ ต้องของประมาณเพิ่มพิเศษ ประการที่ 2. ให้ผมมาเป็นเลขาธิการมหาวิทยาลัย ประการที่ 3. ต้องหาเงินมาเพิ่มให้มหาวิทยาลัยอีก นอกจากงบประมาณธรรมดา เพราะงบประมาณที่ได้น้อยเกินไป ถ้าเกิดท่านมาถามผมก่อน ผมก็จะบอกว่าไม่อยากเป็นเลขาธิการ แต่ท่านว่าท่านไปตกลงกับผู้ใหญ่เรียบร้อยแล้ว ผมก็ไม่รู้จะหลีกเลี่ยงอย่างไรก็ได้ทำหน้าที่ช่วยท่านเรื่อยมา

ปริญญาเอกทางสถิติคนแรกของไทย และผู้ริเริ่มหลักสูตรสถิติในมหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ นคร สอบได้ทุน ก.พ. ไปศึกษาต่อและสำเร็จปริญญาโทและเอกทางสถิติ จาก Cornell University สหรัฐอเมริกา ใน พ.ศ. 2500 นับเป็นคนไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาทางสถิติ สอนวิชาสถิติแก่นิสิตทุกคณะในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เนื่องจากหลักสูตรปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยต้องศึกษา 5 ปี และทำวิทยานิพนธ์ด้วย วิชาสถิติจึงเป็นวิชาพื้นฐานทั่วไปของปริญญาตรี และสอนวิชาสถิติที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ นคร ยังเป็นผู้ริเริ่มหลักสูตรสถิติขึ้น ตั้งแต่หลักสูตรคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาเริ่มสอนในปีที่ 4 เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับทำวิทยานิพนธ์ ส่วนคณะสหกรณ์เรียนวิชาสถิติทั่วไปในปีที่ 1 และเมื่อเป็นผู้บริหารแล้วก็ยังสอนวิชาสถิติอยู่

การวางรากฐานองค์การนิสิต

ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ นคร ได้ร่างระเบียบว่าด้วยองค์การนิสิตของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ โดยพยายามให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การนิสิตและให้แถลงนโยบายให้องค์การนิสิตรับรองทั้งนี้เพื่อให้รองรับในทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย โดยให้นิสิตปกครองด้วยความรักใคร่เป็นพี่น้อง เอาแบบอย่างมาจากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ท่านเล่าว่า

น่าเสียดายที่ผมต้องไปอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2494 กลับมา พ.ศ. 2500 ปรากฏว่าระบบองค์การนิสิตมีแต่พระคุณ พระเดช ไปอยู่กับสภา senior ซึ่งผมเสียใจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างที่ผมตั้งใจวางแบบให้ แต่กลับไปใช้ระบบสภาซีเนียร์ ซึ่งผลดีก็มีอยู่บ้าง แต่ไม่เป็นประชาธิปไตย

เริ่มนำระบบหน่วยกิต และการโอนหน่วยกิตมาใช้ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ นคร กล่าวว่าศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการวางกฎระเบียบทั้งหลายและวางหลักสูตรอยู่ก่อน และศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ได้มาช่วยสานงานนี้ต่อ เรื่องการนำระบบหน่วยกิตมาใช้ในมหาวิทยาลัยนั้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ริเริ่มขึ้น โดยใช้ระบบหน่วยกิตที่ว่าตกวิชาไหน ก็เรียนซ้ำในวิชานั้น เป็นการนำเอาระบบของอเมริกามาใช้ ซึ่งแต่เดิมมาเมืองไทยใช้ระบบอังกฤษ ถ้าตกวิชาไหน ก็ต้องเรียนซ้ำชั้นเลย

นอกจากนี้ ยังได้ริเริ่มให้มีการโอนหน่วยกิตข้ามคณะ และข้ามมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยอื่นไม่มีในสมัยนั้น

ริเริ่มการสอบเข้ามหาวิทยาลัยระบบรวม

ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ นคร ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล จัดระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยใช้วิธีสอบรวมพร้อมกัน เพื่อเป็นการลดปัญหาการรับนิสิตไม่ครบเมื่อเปิดภาคเรียน ช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ลดค่าใช้จ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศที่จะต้องมาใช้เป็นค่ากระดาษสอบตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ลดความเครียดที่เด็กจะต้องวิ่งสอบไปทุก ๆ มหาวิทยาลัยที่อยากเข้าเป็นเวลาทั้งเดือน และเพื่อความเที่ยงธรรม ป้องกันระบบอุปถัมภ์ในการฝากเด็กเข้าเรียน ซึ่งต่อมามหาวิทยาลัยอื่น ๆ ก็มาร่วมมือกันเป็นระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยรวมเป็นการประหยัดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การแก้ระบบ เกาหลัง

ดร. กำแหง พลางกูเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติในขณะนั้น ได้ร่วมกับศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ นคร กับอีกหลายท่านช่วยกันแก้ปัญหาการบริหารในมหาวิทยาลัย โดยพยายามให้ผู้บริหารตำแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี หัวหน้าภาควิชา เป็นตำแหน่งประจำซึ่งจะต้องทำงานเต็มเวลา และให้รักษาการได้อีกไม่เกิน 1 ตำแหน่ง สืบเนื่องจากผู้บริหารในมหาวิทยาลัยดำรงตำแหน่งและรักษาการหลายตำแหน่ง เป็นการกีดกันผู้อื่น และทำให้งานขาดประสิทธิภาพ พอนาย ก. หมดวาระเป็นคณบดี นาย ข.จะเสนอนาย ก. พอนาย ข. หมดวาระ นาย ก. ก็จะเสนอนาย ข. บ้าง คนกลุ่มเดียวจะผลัดกันเสนอคนในกลุ่มนั้นเองเป็นการช่วยเกาหลังกันเองเป็นวงกลม ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยใช้เวลา 3 ปี ในการวางระเบียบใหม่ แต่มีมหาวิทยาลัยเดียวที่ไม่ตอบรับรองให้ใช้ระบบใหม่นี้ การแก้ไขจึงไม่บรรลุผลสำเร็จทันที ต้องรอมาอีกหลายปี จึงแก้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยตามระบบใหม่นี้ได้

ระบบสรรหาผู้บริหารในมหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ นคร เล่าว่า

…ระบบการสรรหาเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก่อนที่อื่น ตอนนั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงเป็นอธิการบดี ทางคณะประมงมีคณบดีที่เป็นอาจารย์อาวุโสมาก ทั้งคณะมีอาจารย์อยู่ 26 คน เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์คนนี้หมดเลย อาจารย์ในคณะต้องการเปลี่ยนคณบดี อธิการบดีจึงให้ผมหยั่งเสียงว่าจะเอาอย่างไร ความจริงในสมัยนั้นอธิการบดีเสนอผู้ใดขึ้นไป สภามหาวิทยาลัยจะรับคนนั้น ไม่มีปัญหาเลย เพราะการตั้งคณบดี หัวหน้าภาควิชา อธิการบดี ใช้วิธีแต่งตั้ง ไม่ใช่เลือกตั้ง มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เลือกตั้งผู้มีความสามารถมาดำรงตำแหน่งผู้บริหารได้โดยไม่จำเป็นต้องมีอาวุโสสูงสุด มหาวิทยาลัยอื่นก็พลอยเห็นดี เลยนำไปปฏิบัติบ้าง ต่อมาจึงเห็นว่าระบบแบบนี้มีข้อเสียหายมาก ที่ประชุมอธิการบดีจึงอยากจะเลิกใช้วิธีเลือกตั้ง แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขได้เป็นเวลายี่สิบสามปีมาแล้ว

การวางผังแม่บทเพื่อเป็นฐานรากในการบริหาร

ในการขยายวิทยาเขตบางเขน เพื่อรองรับจำนวนนิสิตที่เพิ่มขึ้น ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ นคร เล่าว่า

…ผมไปขอ President Jensen ซึ่งเป็นอธิการบดีเกษตรของมหาวิทยาลัย Oregon ให้มาช่วยวางรากฐานการบริหาร ผมเห็นว่าเมืองไทยเรานี้ให้นักวิชาการมาบริหารงานซึ่งถ้ามีนิสิต 5-6 พันคน ก็ไม่เป็นไรหรอก และถ้ามีนิสิต 2 หมื่นคนอย่างนี้ งานบางอย่างผมว่าใช้นักวิชาการธรรมดาไม่ได้ ต้องใช้มืออาชีพมาถึงจะได้ แต่แรกก็มีวิธีเรียนลัดโดยไปขอศาสตราจารย์เจนเซ่นให้มาวางรากฐานว่าควรจะทำอย่างไรที่จะเตรียมสำหรับขยายเพื่อนิสิตเป็น 10,000 - 20,000 คน ศาสตราจารย์เจนเซ่นเดินทางมา แต่พอดีผมต้องไปรักษาการที่สภาการศึกษาแห่งชาติเป็นเลขาธิการอยู่ 1 ปี ก็เลยให้ ศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี เป็นคนช่วยทำให้ โดยมาเริ่มศึกษากับศาสตราจารย์เจนเซ่น และช่วยกันวางผังแม่บทมหาวิทยาลัยเป็นแห่งแรกของเมืองไทย

สำหรับการมีส่วนร่วมตั้งวิทยาเขตกำแพงแสนนั้น ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ นคร เล่าว่า

…ทางผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเขาเรียกผมไปเรื่องการซื้อที่ 8,000 ไร่ ที่กำแพงแสน โดยปรารภว่าเนื้อที่มากเกินไป ขอลดลงไปเท่าที่จำเป็นจริง ๆ ผมอธิบายว่ามหาวิทยาลัยเกษตรทั่วโลก ต้องใช้พื้นที่มาก รัฐบาลไม่เคยเตรียมสถานที่ไว้รองรับความต้องการของหน่วยราชการเลย ผมสัญญาว่า 8,000 ไร่นี้ ถ้า ม.ก.ใช้ไม่หมด กระทรวง ทบวง กรมไหน จะย้ายไปผมยินดีให้ย้ายเลย แต่รับรองว่าใช้หมด ที่การเกษตรแค่นี้ไม่พอหรอก ทางผู้อำนวยการสำนักงบประมาณก็เป็นนักเรียนเก่าสวนกุหลาบเหมือนกับผม แต่เป็นรุ่นเดียวกับน้องชายผม เค้าก็เกรงใจผมในฐานะเป็นรุ่นพี่ จึงจัดสรรเงินไปซื้อที่ 8,000 ไร่ เป็นเงิน 16 ล้านบาท และก็ได้มาอย่างที่เราต้องการ ผมก็มีส่วนช่วยเท่านี้แหละ

การจัดตั้งคณะศึกษาศาสตร์ และโรงเรียนสาธิต

ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ นคร เป็นผู้วางรากฐานสำคัญในการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการศึกษาสาขาทางสังคมศาสตร์ ได้แก่ คณะศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ เป็นต้น ท่านได้ริเริ่มจัดตั้งคณะศึกษาศาสตร์ขึ้นโดยทาบทามขอศาสตราจารย์ ดร.อุบล เรียงสุวรรณ มาช่วยวางรากฐานคณะ และเปิดโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ฝึกสอน พร้อมทั้งเป็นการบริการอาจารย์ ข้าราชการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในเรื่องที่เรียนของเด็ก เพื่อตอบแทนที่ต้องเสียสละมาสอนที่บางเขน ซึ่งในสมัยนั้นเป็นอำเภอชั้นนอกไม่มีใครยอมมารับราชการ

คีตกวี

นอกจากผลงานดีเด่นด้านการศึกษาแล้ว ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ นคร เป็นผู้ทรงคุณวุฒิผู้มีคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อวงการดนตรีไทยและสากล ช่วยพัฒนางานดนตรีของชาติให้รุ่งเรืองก้าวไกลด้วยการอุทิศตนทุ่มเทความรู้ความสามารถตลอดจนแรงกายแรงใจในการประพันธ์เพลงอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาโดยตลอด อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมเป็นอเนกอนันต์ ความสามารถด้านดนตรีเป็นที่ยกย่องอย่างกว้างขวางในวงการดนตรี จึงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประพันธ์คำร้องเพลงพระราชนิพนธ์รวม 5 เพลง คือ เพลงใกล้รุ่ง ชะตาชีวิต ในดวงใจนิรันดร์ แว่ว และเกษตรศาสตร์ อันนำความชื่นชมมาสู่ปวงชนชาวไทยและเป็นความภาคภูมิใจของชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อย่างสุดที่จะประมาณได้

เพลงสดุดีพระเกียรติที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อสดุดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยเฉพาะนั้น เป็นความภาคภูมิใจของชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทุกคนมาตราจนทุกวันนี้ ยิ่งไปกว่านั้น เพลงฝากรักยังได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำร่วมกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ

นอกเหนือจากผลงานการประพันธ์เพลงเป็นจำนวนมาก ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ นคร ยังมีผลงานเกี่ยวข้องกับดนตรีอีกนานัปการ ดังจะเห็นได้จากเมื่อครั้งยังรับราชการอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมมือกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ก่อตั้งวง KU. BAND ขึ้น

นอกจากผลงานด้านเพลงไทยสากล ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ นคร ยังร่วมมือกับศาสตราจารย์ ดร. อุทิศ นาคสวัสดิ์ ก่อตั้งวงดนตรีไทยแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้น โดยที่ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ นคร เป็นทั้งนักดนตรี (ฆ้องวง) นักร้อง และนักแต่งเพลง

ด้วยผลงานในด้านดนตรีเป็นที่ประจักษ์ดังกล่าว สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้มอบปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางด้านดนตรีให้แก่ท่าน เมื่อ พ.ศ. 2540

คนไทยจะต้องอ่านจารึกได้ !

…เมื่อก่อนเมืองไทยพบศิลาจารึกก็จะต้องทำสำเนาส่งไปให้ศาสตราจารย์เซเดย์อ่านที่ปารีท่านก็อายุมากแล้ว ถ้าตายไป มิเป็นอันว่าจะไม่มีคนไทยอ่านศิลาจารึกในเมืองไทยได้เชียวหรือ ผมคิดว่าถ้าไม่มีคนไทยคนไหนจะอ่านจารึกได้ ผมนี่แหละจะต้องเป็นคนอ่านให้ได้

คำกล่าวข้างต้นของศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ นคร นับว่าเป็นจริง ท่านได้ศึกษาศิลาจารึก อักษรโบราณ ภาษาถิ่น จนเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านภาษาไทยถิ่นและไทยอาหม จารึก วรรณกรรมและโบราณคดี ได้ศึกษาค้นคว้าวิจัยงานด้านนี้อย่างกว้างขวาง มีผลงานด้านประวัติศาสตร์ไทยและโบราณคดี ผลงานค้นคว้าวิจัยจารึกประเทศไทยพิมพ์เป็นบทความภาษาอังกฤษร่วมกับนาย เอ.บี. ริโวลด์ งานจารึกและประวัติศาสตร์และผลงานค้นคว้าทางวรรณคดีและภาษา ด้วยเหตุที่ผลงานค้นคว้าด้านจารึกประวัติศาสตร์และวรรณคดีเป็นที่ประจักษ์ในวงวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศถึงความเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ มหาวิทยาลัยและสถาบันต่าง ๆ จึงได้มอบปริญญากิตติมศักดิ์และรางวัลเพื่อเป็นเกียรติประวัติ เช่น ได้รับปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ประวัติศาสตร์) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2516) ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ทางโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยศิปาก(พ.ศ. 2518) ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ประวัติศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (พ.ศ. 2531) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2535) ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ภาษาไทย) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (พ.ศ. 2536) และได้รับยกย่องจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรมาธิราชให้เป็นกิติเมธีคนแรกในสาขาศิลปศาสตร์ (พ.ศ. 2531)

อนึ่ง ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ นคร ยังได้รับการยกย่องในวงวิชาการสาขาอื่นๆ ในความเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและมีคุณูปการต่อวงการศึกษา มหาวิทยาลัยจึงได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้ ได้แก่ ปริญญาศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (พ.ศ. 2527) ปริญญาคุรุศาสตรอุตสาหกรรมดุษฎีบัณฑิต จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า (พ.ศ. 2528)

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ นคร ยังได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2531 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้รับพระราชทานพระเกี้ยวทองคำในฐานะผู้ส่งเสริมภาษาไทยดีเด่นจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2532) เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมสาขามนุษยศาสตร์ (พ.ศ. 2535) เป็นผู้สนับสนุนการอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น (พ.ศ. 2533) และได้รับรางวัลอาเซียน (ASEAN Awards) ในสาขาวรรณกรรม ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศที่มอบให้แก่บุคคลผู้มีผลงานดีเด่นของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศที่จัดขึ้นครั้งที่ 3 ประเทศรูไน ดารุซาลาม (8 - 10 ตุลาคม พ.ศ. 2536) นักเรียนทุนรัฐบาลดีเด่น (พ.ศ. 2537) และเป็นบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาสังคม (พ.ศ. 2540)

แม้ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ นคร จะเป็นข้าราชการบำนาญมากว่า 20 ปีแล้วก็ตาม ท่านก็ยังศึกษาค้นคว้าและเป็นอาจารย์พิเศษในหลายมหาวิทยาลัย ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่สำคัญ เช่น เป็นราชบัณฑิตในสาขามนุษยศาสตร์และสาขาโบราณคดี อดีตนายกราชบัณฑิตสถาน อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นศาสตราจารย์พิเศษจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหิดล ประธานกรรมการชำระประวัติศาสตร์ ประธานกรรมการมูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และรองประธานกรรมการมูลนิธิภูมิโลภิกขุเพื่อการค้นคว้า เป็นต้น

สำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ได้รับพระราชทาน ได้แก่ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก มหาวชิรมงกุฎ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ทุติยดิเรกคุณาภรณ์ และเหรียญดุษฏีมาลา เข็มศิลปวิทยา

ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

แหล่งข้อมูล

ภาควิชาภาษาตะวันออกและชมรมรวมใจจารึก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิปากภาษาจารึกฉบับที่ 5 80 ปี ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ นคร. กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์ริ้นติ้แอนด์พับลิชิ่ง, 2542.

ประเสริฐ นคร. สารัตคดีประเสริฐ นคร. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์พิเณศ, 2527.

ประเสริฐ นคร. งานจารึกและประวัติศาสตร์ของประเสริฐ นคร. กรุงเทพมหานคร : สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม, 2534.

ประเสริฐ นคร. เรื่องจารึกกับประวัติศาสตร์ศิลป์. กรุงเทพมหานคร : Millet Group, 2544.

ประเสริฐ นคร. สัมภาษณ์, 5 มีนาคม 2545.